รายการบล็อกของฉัน

วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2551

พ่อท่านคล้าย "นักบุญแห่งดินแดนทักษิณ"


ประวัติ พระครู พิศิษฐ์อรรถการ


** พระครูพิศิษฐ์อรรถการ หรือ 'พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์' เป็นพระเกจิอาจารย์แถวหน้าของภาคใต้ ที่ใครๆ ก็รู้จัก เดิมท่านชื่อ คล้าย สีนิล เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๔๑๙ ที่บ้านโคกทือ ต.ช้างกลาง กิ่งอำเภอช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออายุ ๑๙ ปี ที่วัดจันดี ต.หลักช้าง โดย พระอธิการจัน เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี อุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมี พ่อท่านกราย วัดหาดสูง เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วไปจำพรรษาอยู่ที่วัดทุ่งปอน หรือวัดจันดี ท่านเป็นพระนักพัฒนา สร้างวัดไว้หลายแห่ง จนได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูพิศิษฐ์อรรถการ ท่านมรณภาพด้วยโรคหืด เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๓ สิริรวมอายุได้ ๙๖ ปี สรีระของท่านบรรจุอยู่ในหีบแก้ว ในสภาพที่ไม่เน่าเปื่อย และเป็นสรีระอมตะจนถึงปัจจุบัน

** พระเครื่องของ พ่อท่านคล้าย มีทุกรูปแบบ หลายรุ่นมีราคาเช่าหาแพง เช่น เหรียญรุ่นแรก ปี ๒๔๙๙ ที่เห็นนี้ เป็นเหรียญของ แมว ทุ่งสง ผู้ประสบความสำเร็จจาก จตุคามฯ รุ่น 'ทรัพย์เทวา' หลังจากนั้นกลับไปพักผ่อนที่ จ.นครศรีธรรมราช จนถึงวันนี้ได้กลับคืนสู่ กทม.อีกวาระหนึ่ง พร้อมกับพระสายใต้อีกจำนวนมากมาย เหรียญพ่อท่านคล้าย รุ่นแรก อันนี้คือหนึ่งในจำนวนนั้น ** ท่านสวัสดิ์ โชติพานิช อดีตประธานศาลฎีกา ท่านเป็นชาวเมืองพัทลุง สมัยที่ท่านได้เดินทางไปเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดเบตง ช่วงปี ๒๕๐๕ นั้น ท่านได้เป็นผู้จัดสร้าง พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ จ.ปัตตานี

ที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่า 'รุ่นเลขใต้ฐาน' เป็นพระรูปเหมือนหลวงพ่อทวด ที่ฐานไม่มีดอกบัวรองรับ เหมือนกับพระหลวงพ่อทวดรุ่นอื่นๆ ปัจจุบัน พระหลวงพ่อทวด รุ่นเลขใต้ฐาน ที่สร้างขึ้นเพื่อหารายได้ถวาย วัดพุทธาธิวาส อ.เบตง จ.ยะลา รุ่นนี้ มีราคาเช่าหากันองค์ละหลายแสนบาทขึ้นไป

นับได้ว่าท่านเป็น 'นักบุญแห่งดินแดนทักษิณ' ก็ย่อมได้ทั้งนี้เพราะว่าบารมีของท่านได้สร้างความเจริญให้กับท้องถิ่นทางภาคใต้เอาไว้มากทั้งสาธารณประโยชน์และการพระศาสนาทั้งนี้ก็เกิดมาจากความศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน โดยเฉพาะคุณวิเศษของท่านทาง 'วาจาศิทธิ์' จนมีการเรียกขนามพ่อท่านคล้ายมีสร้อยห้อยท้ายกันว่า... 'พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์' วัตถุมงคลพ่อท่านคล้ายได้มีการสร้างมากมายหลายสิบรุ่น มีทั้งที่ออกจากวัดสวนขันเองและไปออกที่วัดอื่นๆ



พระครู พิศิษฐ์อรรถการ (คล้าย จนทวณโณ)

อดีตเจ้าอาวาสวัดสวนขันและวัดพระธาตุน้อย

ประวัติ

๑. สถานะเดิม
พระครูพิศิษฐ์อรรถการ เดิมชื่อ คล้าย สีนิล เกิดวันอังคาร เดือน ๔ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๗ ที่บ้านโคกทือ ตำบลช้างกลาง กิ่งอำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายอินทร์ นางเนี่ยว สีนิล ลักษณะนิสัย เป็นคนมีมานะอดทน ขยันหมั่นเพียร อยู่ในโอวาทคำสั่งสอนของบิดามารดาและครูอาจารย์อย่างเคร่งครัด สุภาพ เรียบร้อย ว่านอนสอนง่าย นิสัยอ่อนโยนละมุนละมัย จึงเป็นที่รักของบิดมารดา ครูอาจารย์และญาติมิตรเป็นอันมาก เมื่ออายุ ๑๕ ปี ประสบอุบัติเหตุในการถางป่าทำไร่กระดูกปลายเท้า สามนิ้วแตกละเอียด รักษาไม่หาย ด้วยกำลังใจที่เด็ดเดี่ยว พ่อท่านคล้ายได้ใช้มีดตัดปลายเท้าออกด้วยตัวเอง

และใช้ยาพอกจนหายเป็นปกติ แล้วได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณรที่วัด อำเภอฉวาง เมื่ออายุครอบ ๒๐ ปี จึงได้อุปสมบท ณ อุทกุกเขปสีมา หรือศาลาน้ำ ได้รับฉายาว่า จนทสวณโณ โดยมีพระครูกราย คงคสุวณโณ เจ้าอาวาสวัดหาดสูง เป็นพระอุปัชฌาชย์ แล้วได้ไปจำพรรษา อยู่ที่วัดทุ่งปอน หรือวัดจันดี พ่อท่านคล้ายมรณภาพด้วยโรคหืด เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ..ศ. ๒๕๑๓ รวมอายุได้ ๙๖ ปี เมื่อบำเพ็ญกุศลครบ ๑๐๐ วัน จึงได้บรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ในสัตตมวารหรือพระเจดีย์น้อยวัดพระธาตุน้อยจนถึงปัจจุบัน

๒. การศึกษา
การศึกษาเบื้องต้น พระครูพิศิษฐ์อรรถการ เริ่มศึกษาเบื้องต้นที่บ้าน โดยบิดาเป็นผู้สอน เรียนวิชาคำนวน และวิชาอักษรโบราณ จนสามารถอ่านออกเขียนชำนาญ ทั้งหนังสือไทยและหนังสือขอม ต่อมาศึกษาต่อในสำนักนายขำ ที่วัดทุ่งปอน บ้านโคกทือ จนจบหลักสูตร ต่อมาได้ไปฝึกหัดเล่นหนังตะลุงกับนายทองสาก ประกอบกับพ่อท่านคล้ายมีหน้าตาดี น้ำเสียงไพเราะ จึงมีคนติดใจการเล่นหนังตะลุงของท่านมากการศึกษาสมัยอุปสมบท เมื่อบวชเป็นพระสงฆ์ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ศึกษาภาษาบาลี (มูลกัจจายนะ) ณ สำนักวัดหน้าพระบรมธาตุฯ โดยมีพระครูกาแก้ว (ศรี) เป็นอาจารย์ ต่อมาได้ศึกษาทางวิปัสสนากัมมัฎฐานที่สำนักวัดสามพัน อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีอาจารย์หนูเจ้าอาวาสเป็นผู้สอน

ผลงานและเกียรติคุณได้รับ
๑. ได้รับสมณศักดิ์
ได้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่พระครูพิศิษฐ์อรรถการในปีพ.ศ.๒๔๙๘ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นพิเศษในนามสมณศักดิ์เดิมแต่ประชาชนทั่วไปเรียกท่านตามชื่อเดิมว่า พ่อท่านคล้าย

๒. ได้รับตำแหน่ง

๒.๑ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสวนขันตำบลละอาย อำเภอฉวาง ใน พ.ศ. ๒๔๔๕ จนมรณะภาพ

๒.๒เป็นเจ้าอาวาสวัดธาตุน้อยในพ.ศ.๒๕๐๐เนื่องจากมีการสร้างถนนผ่านกลางวัดจันดีหรือวัดทุ่งปอนทำให้วัดถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนประชาชนได้ประชุมตกลงสร้างวัดใหม่ในเนื้อที่ที่แยกออกไป เรียกว่า วัดพระธาตุน้อย และแต่งตั้งให้พระครูพิศิษฐ์อรรถการ เป็นเจ้าอาวาส

๓. ผลงานที่สำคัญ

๓.๑. งานด้านศาสนา
พระครูพิศิษฐ์อรรถการ เป็นผู้นำในการสร้างวัดพระเจดีย์ พระพุทธรูป และร่วมกันในการปฏิสังขรณ์บูรณะศาสนสถานเป็นจำนวนมาก ผลงานสำคัญ ดังเช่นสร้างวัด พ่อท่านคล้ายเห็นความสำคัญของปูชนียสถาน จึงได้สร้างวัดขึ้นหลายแห่ง ได้แก่ วัดมะปรางงาม ตำบลละอาย อำเภอฉวาง ใน พ.ศ. ๒๔๙๐ ต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๐ ทายาทอึ่งค่ายท่าย ถวายที่ดินใกล้ตลาดนาบอน จึงสร้างวัดขึ้นเรียกชื่อตามสมณศักดิ์ว่า วัดพิศิษฐ์อรรถการาม และวัดที่สำคัญที่สุดคือวัดพระธาตุน้อย หรือคนทั่วไปเรียกว่า วัดพ่อท่านคล้าย พระครูพิศิษฐ์อรรถการได้สร้างขึ้นใหม่ และสร้างเจดีย์องค์ใหญ่ไว้เป็นอนุสรณ์

โดยยึดรูปแบบมาจากวัดพระมหาธาตุทั้งหมด การก่อสร้างสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๕๑๓สร้างพระเจดีย์ พ่อท่านคล้ายได้สร้างพระเจดีย์ไว้หลายองค์ ได้แก่ เจดีย์วัดสวนขัน เจดีย์บ้านควรสวรรค์ ตำบลนาแว อำเภอฉวาง เจดีย์วัดยางค้อม อำเภอพิปูน และที่จังหวัดสุราษฏณ์ธานี ได้แก่ เจดีย์วัดสวนขันอำเภอพระแสง และเจดีย์หน้าถ้ำขมิ้น บนภูเขาอำเภอนาสาร

๓.๒ งานด้านพัฒนาท้องถิ่น
พ่อท่านคล้าย จัดได้ว่าเป็นนักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ตลอดชีวิต ทำงานโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ได้เดินทางไปพัฒนาในที่ต่าง ๆ มากมาย สร้างถนน สะพานมากมาย ด้วยเมตตาบารมีและความเคารพศรัทธาของศิษย์และประชาชน ดังเช่น สร้างถนนเข้าวัดจันดี ถนนจากตำบลละอายไปพิปูน ถนนจาก
วัดสวนขันไปยังสถานีรถไปคลองจันดี ถนนจากตำบลละอายไปนาแว ถนนระหว่างหมู่บ้านในตำบลละอาย สะพานข้ามคลองคุดด้วนเข้าวัดสวนขันสะพานข้ามแม่น้ำตาปีจากตลาดทานพอไปนาแว สะพานข้ามคลองเสหลา หน้าวัดมะปรางงาม สะพานข้ามคลองจันดี เป็นต้น

๓.๓ ด้านความมีเมตตาและวาจาสิทธิ์

ศิษย์ยานุศิษย์และประชาชนที่เคารพนับถือ ศรัทธาพ่อท่านคล้ายได้เชื่อถือถึงความศักดิ์สิทธิ์ของวาจา พูดอย่างไรเป็นอย่างนั้น พ่อท่านคล้ายจะพูดจากับทุกคนด้วยใบหน้ายิ้มแย้มและแจ่มใสอารมณ์เยือกเย็นอยู่ตลอดเวลา ท่านมักจะให้พรกับทุกคน 'ขอให้เป็นสุขเป็นสุข' ผู้ที่เคารพนับถือท่านต่างพากันกลัวคำตำหนิ เพราะผู้ที่ถูกตำหนิทุกรายล้วนแต่พบความวิบัติ คนส่วนมากจึงหวังที่จะได้รับคำอวยพร เพราะคำเหล่านั้นเป็นการพยากรณ์ที่แม่นยำทั้งในทางดีและทางเสื่อมเสีย คนที่ไปนมัสการหวังที่จะได้วัตถุมงคล บ้างขอน้ำมนต์ ชานหมาก แหวน ผ้ายันต์ เหรียญ รูปหล่อ รูปพิมพ์ ซึ่งพ่อท่านคล้ายก็ได้มีเมตตาให้กับทุกคน

ไม่มีความคิดเห็น: